รพ.สมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ
เมื่อปี พ.ศ. 2447 ได้มีการก่อตั้ง “สุขศาลาท่าบ่อ” ขึ้นเพื่อบริการด้านการรักษาพยาบาลให้แก่ชาวอำเภอท่าบ่อเป็นแห่งแรก ที่ทำการอยู่ทางทิศเหนือของที่ว่าการอำเภอ ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองร้อยอาสารักษาดินแดนในปัจจุบัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2496 ได้ย้ายที่ทำการมาอยู่แห่งใหม่ คือบริเวณที่ตั้งโรงพยาบาลปัจจุบัน การย้ายที่ทำการครั้งนั้นได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “สถานีอนามัยชั้น 1” โดยมีเตียงรับคนไข้ภายใน 10 เตียง ประกอบด้วย นายแพทย์ประจำ 1 คน สารวัตรสุขาภิบาล พนักงานอนามัย นางสงเคราะห์ (พยาบาล)ผดุงครรภ์ พนักงานบำบัดโรคเรื้อน และนักการอย่างละ 1 คน ส่วนด้านการรักษาพยาบาล ถ้ามีคนไข้หนักก็นำส่งโรงพยาบาลหนองคาย เนื่องจากเครื่องมือแพทย์ ตลอดจนแพทย์และเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ส่วนเจ้าหน้าที่อื่นๆ เช่น ด้านส่งเสริมสุขภาพ สุขาภิบาลป้องกันโรค ต้องรับผิดชอบงานทุกตำบลในเขตอำเภอท่าบ่อ เนื่องจากยังไม่มีสถานีอนามัยตำบล หรือสำนักงานผดุงครรภ์ การคมนาคมติดต่อก็ไม่สะดวกอย่างปัจจุบัน
ประมาณปี พ.ศ. 2517 กระทรวงสาธารณสุข ได้วางโครงการขยายงานด้านการรักษาพยาบาลออกไปสู่เขตชุมชนมากขึ้น “สถานีอนามัยชั้น 1” จึงมีการพัฒนามากขึ้นและเปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์การแพทย์และอนามัย” ต่อมาในปี พ.ศ. 2519 ศูนย์การแพทย์และอนามัยแห่งนี้ก็ยกระดับมาเป็น “โรงพยาบาลท่าบ่อ” แต่การบริการด้านการรักษาพยาบาลก็ยังคงรูปแบบเดิม คือมีเตียงรักษาผู้ป่วย 10 เตียง มีแพทย์ประจำ 1 คน ระบบการแบ่งงานยังไม่คล่องตัว ปี พ.ศ. 2520เป็นปีที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อได้รับการยกฐานะให้เป็นโรงพยาบาล 30 เตียง มีแพทย์ประจำปฏิบัติงาน มีพยาบาลและเจ้าหน้าที่อื่นๆ เพิ่มมากขึ้น
และเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2520 รัฐบาลร่วมกับพสกนิกรชาวไทย ได้บริจาคทุนทรัพย์ร่วมกันจัดสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชขึ้นในอำเภอต่างๆ ทั่วประเทศจำนวน 21 แห่ง โดยโรงพยาบาลท่าบ่อก็เป็นหนึ่งใน 21 แห่งนี้ โรงพยาบาลท่าบ่อได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ” และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จฯ มาวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 12 กันยายนพ.ศ. 2520 และเสด็จฯ มาทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2522
ในปี พ.ศ. 2524 กระทรวงสาธารณสุขขออนุมัติให้โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ ขยายจากขนาด 30 เตียงเป็นโรงพยาบาล 60 เตียง และได้พัฒนางานด้านการรักษามากขึ้น มีจำนวนบุคลากรมากขึ้น
ปัจจุบัน โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อได้ยกฐานะเป็นโรงพยาบาลขนาด 98 เตียง มีหน้าที่ต้องให้บริการประชาชนทั้งในด้านการรักษาพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพ ฟื้นฟูสภาพ และป้องกันโรค โดยมีขอบเขตความรับผิดชอบประชาชนอำเภอท่าบ่อ และอำเภอใกล้เคียง รวมทั้งเป็นโรงพยาบาลพี่เลี้ยงของโรงพยาบาลชุมชนในเขตจังหวัดหนองคายตอนเหนือ ซึ่งได้แก่ โรงพยาบาลสังคม โรงพยาบาลศรีเชียงใหม่ ตลอดจนสถานีอนามัยในเขตอำเภอท่าบ่ออีกด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น